ประเด็นร้อน

เมื่อ Datathon เจอ วิจัยชุมชน : คนหรือเทคโนโลยี ใครควรมาก่อนกัน

โดย ACT โพสเมื่อ Jul 10,2019

- - ขอบคุณข้อมูลจาก แนวหน้า - -

 

 

คอลัมน์ ต่อต้านคอร์รัปชัน : โดย รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค


ต่อภัสสร์ : เสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมาเป็นสุดสัปดาห์ที่น่าตื่นตาตื่นใจมากสำหรับผมเลยครับ ผมได้ไปพูดคุยและร่วมทำงานกับกลุ่มคนสองกลุ่มที่มีที่มาแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่มีความสนใจเดียวกัน คือ เกลียดการคอร์รัปชันและพร้อมจะลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหานี้ด้วยตัวเองแล้ว


งานแรกคือ เมื่อวันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา ผมได้ไปร่วมงาน Datathon : Organising Data for Anti-Corruption เปิดเผยข้อมูล ป้องกันคอร์รัปชัน ที่ร่วมกันจัดโดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ), สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC), องค์กร Change Fusion, Open Dream, HAND Social Enterprise, และ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT งานนี้สามารถระดมผู้ที่สนใจปัญหาคอร์รัปชัน ทั้งที่เป็นนักวิชาการ นักต่อสู้เพื่อสังคม นักกฎหมาย ผู้พิพากษา นักเทคโนโลยี โปรแกรมเมอร์ ไปจนถึงนักการเมือง มาช่วยกันคิด ช่วยกันลงมือทำงาน เพื่อพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน เกิดเป็นโครงการที่ชื่อว่า Corrupt 0 (Corrupt Zero) ขึ้น


ต่อตระกูล : เคยได้ยินว่าต่างประเทศจัดงานลักษณะนี้กันหลายแห่ง แล้วสามารถนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาสังคมต่างๆ ได้จริง เมื่อปีที่แล้วพ่อก็ได้รับเชิญไปร่วมเป็นกรรมการตัดสินการแข่งขันลักษณะนี้ โดยมีผู้ร่วมแข่งขันจากชาติต่างๆ ในเอเชียถึง 7 ประเทศ โดยมีการเสนอผลงานสดๆ ผ่านทางอินเตอร์เนต จึงได้เห็นว่าคนไทยก็เก่งไม่น้อยหน้าญี่ปุ่นและไต้หวัน ที่รัฐบาลเขาส่งเสริมการใช้ข้อมูลสาธารณะของรัฐมาใช้ประโยชน์ทางด้านต่างๆ แต่ยังไม่เคยเห็นที่ไหนแข่งขันพัฒนาโครงการด้านต่อต้านคอร์รัปชันกัน คงเพราะเขาไม่มีปัญหาหนักๆ เหมือนบ้านเราตอนนี้ ตอนนั้นยังเกิดความคิดอยากให้ประเทศไทยจัดระดมคนเก่งๆ มาคิดวิธีเอาข้อมูลสาธารณะที่มีหลากหลายมาใช้ช่วยต่อต้านคอร์รัปชันเลย เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าในงานครั้งนี้เขาทำอะไรกันบ้าง


ต่อภัสสร์ : หลักการสำคัญของงานแบบนี้คือ ระดมช่วยกันคิดช่วยกันทำงานจนได้ผลงานต้นแบบออกมา ดังนั้นจึงไม่มีกำหนดการตายตัว บางทีก็ตะลุยกันสองวันสองคืนช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ นอนค้างกันที่จัดงานเลย แต่สำหรับงานนี้เราเริ่มกันตั้งแต่ 9 โมงเช้า และสรุปปิดงานกันตอน 3 ทุ่มกว่าๆ รวมลุยงานด้วยกันเกือบ 12 ชั่วโมง


เริ่มต้นงานตอนเช้า ก็มาคุยตกลงเป้าหมายกันให้ชัด ว่าในวันนี้เรามาระดมกำลังกันเพื่อเป้าหมายอะไร และเรามีวัตถุดิบหรือข้อมูลอะไรมาให้ใช้บ้าง ซึ่งในวันนั้นเราตกลงกันว่าจะร่วมกันพัฒนาโครงการชื่อ Corrupt 0 โดยเริ่มจากข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมาจากฐานข้อมูล ACT.ai ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ข้อมูลคำพิพากษาศาลฎีกาคดีทุจริต และข้อมูลคำชี้มูลของ ป.ป.ช. เมื่อตกลงกันเรียบร้อยก็เริ่มแบ่งทีมกันเป็น 2 ทีมหลัก คือ ทีมโปรแกรมเมอร์ และ ทีมนำเข้าข้อมูล


ผมลงชื่ออยู่ในทีมนำเข้าข้อมูลส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาคดีทุจริต ก็มีหน้าที่ค้นหาคดีที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันในฐานข้อมูล แล้วกรอกข้อมูลแยกตามประเภท เช่น ชื่อจำเลย ชื่อโจทก์ มาตรากฎหมายอาญาที่ใช้ลงโทษ เราได้เรียนรู้ว่าการอ่านคำพิพากษาและคำตัดสินชี้มูลนั้นไม่ง่ายเลย และถ้าไม่มานั่งอ่านนั่งกรอกข้อมูลแบบนี้ คอมพิวเตอร์ก็คงทำเองไม่ได้ง่ายนักเช่นกัน เราจึงภาคภูมิใจมากว่าในเวลากว่า 10 ชั่วโมง ทีมเราสามารถนำเข้าข้อมูลคำตัดสินชี้มูลของ ป.ป.ช. ได้กว่า 900 กรณี และคำพิพากษาศาลฎีกาได้ถึง 90 กว่าคดี เพื่อส่งต่อให้ทีมโปรแกรมเมอร์นำไปวิเคราะห์ต่อได้


ในขณะที่เรานั่งอ่านคำพิพากษาและกรอกข้อมูลนั้น ทีมโปรแกรมเมอร์ก็ออกแบบและเขียนโปรแกรมจับความสัมพันธ์ของข้อมูลเหล่านั้น เพื่อมานำเสนอในรูปแบบที่เข้าใจง่ายและเป็นประโยชน์ในการนำไปใช้ต่อ ซึ่งพวกเราเฝ้ารอเฝ้าคอยอย่างตื่นเต้น อยากเห็นว่าจากข้อมูลที่แทบจะอ่านไม่ออกที่เรานั่งกรอกกันทั้งวัน จะสามารถนำไปสู่อะไรที่แปลกใหม่ได้จริงหรือ และระหว่างที่ทั้งสองทีมทำงานกันอย่างขันแข็ง ทีมผู้จัดงานก็จะชวนมาพักคิดรูปแบบเครื่องมือที่พวกเราคิดว่าจะสามารถช่วยต่อต้านคอร์รัปชันได้อย่างได้ผลจริง ซึ่งความคิดของผู้ร่วมงานหลายคนเป็นแนวทางใหม่ที่เราไม่เคยคิดกันมาก่อน จึงน่าสนใจมากๆ


และแล้วช่วงเวลาสำคัญก็มาถึง ที่ทีมโปรแกรมเมอร์พร้อมนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น เราได้เห็นแผนที่ประเทศไทยที่แสดงพื้นที่ที่มีคนถูกตัดสินคดีทุจริตมากน้อยต่างกัน และแยกประเภทความผิดตามมาตรากฎหมายต่างกันด้วย ถ้า ป.ป.ช. ได้เห็น ก็คงจะหาวิธีจัดสรรทรัพยากรแก้ไขปัญหาแบบเฉพาะเจาะจงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เราได้เห็นหน่วยงานรัฐและตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตมากที่สุด 10 อันดับแรก ซึ่งถ้า ก.พ. ได้เห็นก็จะสามารถพัฒนาแนวทางป้องกันการกระทำผิดได้อย่างเฉพาะเจาะจง เราได้เห็นชื่อคนที่ถูกตัดสินว่าทุจริตและไปเกี่ยวข้องกับบริษัทที่ได้รับสัญญาจัดซื้อจัดจ้างจากหน่วยงานภาครัฐ และในหลายๆ กรณีเป็นการจัดซื้อจัดจ้างที่มีความน่าสงสัยว่าจะมีการฮั้วประมูลด้วย เพราะราคาที่ชนะการประมูลต่างจากราคากลางไม่ถึง 1% ซึ่งถ้าหน่วยงานรัฐที่จัดซื้อจัดจ้างรู้ ก็คงไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับบริษัทนี้ หรือ ถ้า สตง. เห็นก็คงจะเลือกตรวจสอบได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ตัวอย่างผลการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้ เกิดจากการทำงานร่วมกันเพียงแค่ 12 ชั่วโมงนะครับ


ต่อตระกูล : กิจกรรมนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมากของการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล ที่สำคัญเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการช่วยกันคิดช่วยกันทำเพื่อแก้ปัญหาอย่างแท้จริง องค์กรตัวกลางอย่างองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ควรจะสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมแบบนี้ขึ้นอย่างต่อเนื่อง แล้วที่บอกว่าได้เจอคนอีกกลุ่มหนึ่งด้วยคือใคร แล้วเกี่ยวข้องกับเรื่องแรกนี้อย่างไร


ต่อภัสสร์ : งานแรกนี้ ทำให้เห็นความสำคัญอย่างยิ่งยวดของเทคโนโลยีในการต่อต้านคอร์รัปชัน แต่ต้องไม่เข้าใจผิด คิดว่าเทคโนโลยีคือยาวิเศษ รักษาโรคโกงได้อย่างเด็ดขาด ต้องเข้าใจเสมอว่า เทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือ ถ้าหากปราศจากคนที่มีใช้เครื่องมือแล้ว ก็จะไม่เป็นประโยชน์อย่างใด เห็นได้จากแอพพลิเคชั่นมือถือหลายชิ้นที่ถูกพัฒนามาเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม แต่ถูกทิ้งร้างไม่มีคนมาใช้ สาเหตุสำคัญก็เพราะกระบวนการออกแบบนั้น ไม่ได้มีการทำความเข้าใจคนจริงๆ ในแต่ละพื้นที่ แต่ละช่วงวัย ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมาก


เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้ไปร่วมลงพื้นที่พูดคุยทำความเข้าใจเรื่องธรรมาภิบาลในชุมชนริมคลองบางบัว ในโครงการวิจัยเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน โดยศูนย์วิจัย SIAM lab คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งโครงการวิจัยนี้ทำงานร่วมกับทีมวิจัยในพื้นที่อีกหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดน่าน แม่ฮ่องสอน โคราช ทำให้เห็นว่าคนในแต่ละพื้นที่และแต่ละช่วงวัยนั้น มีความเข้าใจต่อปัญหาคอร์รัปชันแตกต่างกันอย่างมาก และมีวิธีการแก้ปัญหาภายในชุมชนที่แตกต่างกันด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่ผ่านมา วิธีที่ภาครัฐมักใช้ในการต่อต้านคอร์รัปชันคือวิธีการแบบครอบจักรวาล ที่อยู่บนหลักความคิดว่า ถ้าแก้ปัญหาที่หนึ่งได้ ก็ได้แก้ที่อื่นๆ ได้เสมอไป ซึ่งเป็นแนวความคิดที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่เป็นจริง ซึ่งประเด็นนี้จึงนำไปสู่คำถามต่อมาว่าแล้วจะไปเข้าใจทุกคนในทุกพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร


หากพิจารณาดีๆ จะเห็นได้ว่า งานสองงาน ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนสองกลุ่ม ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีอะไรเหมือนกันเลย ยกเว้นเพียงความสนใจเรื่องต่อต้านคอร์รัปชันเท่านั้น อาจจะเป็นคำตอบซึ่งกันและกันสำหรับคำถามโลกแตกของแต่ละกลุ่ม กลุ่มเทคโนโลยีมีเครื่องมือที่จะวิเคราะห์ แยกแยะ และชี้เป้าปัญหาได้โดยละเอียด แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้คนมาร่วมใช้เครื่องมือ ส่วนกลุ่มนักวิจัยและชาวบ้านก็พร้อมจะร่วมแก้ไขปัญหา แต่ไม่มีเครื่องมือที่จะใช้จัดการกับข้อมูลจำนวนมากที่แตกต่างกันได้อย่างไร


คำถามว่าเทคโนโลยีหรือคน ใครมาก่อนกัน คงไม่ถูกต้องนัก เพราะคำถามสำคัญที่หากหาคำตอบได้อาจจะสามารถพลิกผันสถานการณ์คอร์รัปชันของประเทศไทยได้จริง คือ ทำอย่างไรจะให้กลุ่มคนสองกลุ่ม ที่มีวิถีชีวิตและวิถีความคิดที่แตกต่างกันอย่างมาก มาประสานร่วมคิดร่วมลงมือทำงานด้วยกันได้ วันนี้เราได้เริ่มก้าวแรกกระตุ้นให้ทุกคนมีส่วนร่วมกันในส่วนของตัวเองได้จริงแล้ว ก้าวต่อไปคือการประสานความมีส่วนร่วมนี้เข้าด้วยกัน ซึ่งไม่ไกลเกินเอื้อมไปอย่างแน่นอนครับ

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw